เมนู

อรรถกถาธรรมกถิกสูตรที่ 1



พึงทราบวินิจฉัยในธรรมกถิกสูตรที่ 1 ดังต่อไปนี้ :-
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงพระธรรมกถึก ด้วยคำตอบที่ 1
ตรัสถึง เสกขภูมิ ด้วยคำตอบที่ 2 ตรัสถึง อเสกขภูมิ ด้วยคำตอบที่ 3
รวมความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสภูมิ 2 ขยายพระธรรมกถึก
ให้แตกต่างกันออกไป ด้วยคำถามที่ภิกษุทูลถามแล้ว.
จบ อรรถกถาธรรมกถิกสูตรที่ 1

4. ธรรมกถิกสูตรที่ 2



ว่าด้วยเหตุที่เรียกว่า พระธรรมกถึก



[303] กรุงสาวัตถี. ภิกษุนั้นนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว
ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า
พระธรรมกถึก พระธรรมกถึก ดังนี้ ภิกษุชื่อว่าเป็นพระธรรมกถึกด้วย
เหตุเพียงเท่าไร ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมด้วยเหตุ
เพียงเท่าไร ชื่อว่าเป็นผู้ได้บรรลุนิพพานในปัจจุบัน ด้วยเหตุเพียงเท่าไร ?
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ดูก่อนภิกษุ หากว่าภิกษุแสดง
ธรรม เพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับรูป
เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ไซร้ ควรจะเรียกว่า ภิกษุผู้ธรรมกถึก
หากว่าภิกษุเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด
เพื่อความดับรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไซร้ ควรจะเรียกว่า
ภิกษุผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม หากว่าภิกษุเป็นผู้หลุดพ้นแล้ว

เพราะเบื่อหน่าย เพราะคลายกำหนัด เพราะดับ เพราะไม่ถือมั่นรูป
เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไซร้ ควรจะเรียกว่า ภิกษุผู้ได้บรรลุ
นิพพานในปัจจุบัน.

จบ ธรรมกถิกสูตรที่ 2

อรรถกถาธรรมกถิกสูตรที่ 2



ในธรรมกถิกสูตรที่ 2 พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสการวิสัชนา
คำถามทั้ง 3 ไว้ 3 ข้อ.
จบ อรรถกถาธรรมกถิกสูตรที่ 2

5. พันธนสูตร



ว่าด้วยเครื่องจองจำ คือขันธ์ 5



[304] กรุงสาวัตถี. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้
สดับแล้วในโลกนี้ ไม่ได้เห็นพระอริยเจ้าทั้งหลาย ฯลฯ ไม่ได้รับแนะนำ
ในสัปปุริสธรรม ย่อมตามเห็นรูปโดยความเป็นอัตตา เห็นอัตตาว่า
มีรูป เห็นรูปในอัตตา หรือเห็นอัตตาในรูป ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
นี้เรียกว่า ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้ว เป็นผู้ถูกเครื่องจำคือ รูป จำไว้แล้ว
เป็นผู้ถูกเครื่องจำทั้งภายในทั้งภายนอกจำไว้แล้ว เป็นผู้มองไม่เห็นฝั่งนี้
เป็นผู้มองไม่เห็นฝั่งโน้น ย่อมแก่ทั้ง ๆ ที่ถูกจำ ย่อมตายทั้ง ๆ ที่ถูกจำ